ากจะพูดถึงการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ผมมองว่าการท่องเที่ยวนั้นมีพัฒนาการมาตามลำดับ จากแต่เดิมที่ท่องเที่ยวเพื่อจับจ่ายใช้สอย สนองความต้องการขั้นพื้นฐานของตัวเอง ถูกพัฒนาขึ้นเป็นท่องเที่ยวเพื่อให้เราได้ผ่อนคลาย มีความสุข จนกระทั่งในปัจจุบัน การท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นอีกประเภทหนึ่งก็คือ “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม”
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคืออะไร? ทาง ดร.ไกรฤกษ์ ปิ่นแก้ว อาจารย์ประจำหลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ให้นิยามไว้ว่า
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นการศึกษาหาความรู้ในพื้นที่หรือบริเวณที่มีคุณลักษณะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีการบอกเล่าเรื่องราวในการพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ผ่านทางประวัติศาสตร์อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม องค์ความรู้ และการให้คุณค่าของสังคม โดยสถาปัตยกกรมที่มีคุณค่าหรือสภาพแวดล้อมอย่างธรรมชาติ ที่สามารถแสดงออกให้เห็นถึงความสวยงามและประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม หรือขนบธรรมเนียมประเพณี
ที่นี่ สะเมิง ถือว่าเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกที่หนึ่ง กลิ่นอายวัฒนธรรมของชาวสิบสองปันนา ยังครุกรุ่นอยู่นิดๆ หากจะหาโอกาสมาเที่ยวชม มองดูวิถีชีวิตของคนในชุมชนไทลื้อ แม่่สาบ อาจจะหาดูได้ไม่ยากนัก เพราะกลิ่นอายวัฒนธรรมของคนที่นี่ มักจะถูกถ่ายทอดแสดงออกมาหลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางเครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม วัฒนธรรมความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยปรัญญาชีวิตคำสอน จากรุ่นสู่รุ่น สิ่งเหล่านี้ชุมชนที่นี่ ถ่ายทอดออกมา และสะท้อนถึงตัวตน อัตลักษณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ผ้าทอไทลื้อ ศิลปะวัฒนธรรม ที่อยู่คู่กับชุมชนไทลื้อแม่สาบ มาอย่างยาวนาน ลวดลายบนผืนผ้า สามารถเล่าเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี สีสรรต่างๆของลายผ้า ยังสอดแทรกเอกลักษณ์ความเป็นไทลื้อลงไป ทำให้ให้ผ้าไทลื้อ มีความน่าสนใจมากมายเลยทีเดียว
จากรุ่นสู่รุ่น ศิลปะที่ถ่ายทอดออกมา ผ่านทางลวดลายผ้าทอ
จากคำบอกเล่าของแม่อุ้ยเมือง พิมสารี แม่เฒ่าวัย 79 ปีของบ้านแม่สาบ ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของผ้าทอไทลื้อ บ้านแม่สาบ ว่าชาวบ้านแม่สาบ รกรากบรรพบุรุษจริงๆมาจากแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน แล้วทำการอพยพเรื่อยมาจนสุดท้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ บ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง ซึ่งได้นำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าที่มีมาช้านานติดตัวมาด้วย ศิลปะการทอผ้าถูกสั่งสมถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่นๆ จวบจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้การทอผ้าของชุมชนไทลื้อ บ้านแม่สาบหยุดชงักลง ภาวะสงครามทำให้ต้นฝ้าย และวัสุดในการทอผ้าต่างๆ ถูกทำลายลง จนชาวบ้านแม่สาบไม่สามารถทอผ้าต่อไปได้ จึงทำให้ชาวบ้านหันมาทำไร่ ทำนากันแทนเป็นส่วนใหญ่
หลังจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 จบไปไม่นาน ด้วยความรักในการทอผ้าและอยากจะให้ลูกหลานชาวไทลื้อ บ้านแม่สาบ รักษาคงไว้ซึ่งลวดลายศิลปะการทอผ้าให้คงสืบไป แม่อุ้ยเมืองจึงตัดสินใจรวบรวมเงินจำนวนหนึ่งของตัวเอง ไปซื้ออุปกรณ์ในการทอผ้า ที่ยังหลงเหลืออยู่ในหมู่บ้าน และเริ่มฟื้นฟูการทอผ้าขึ้นมา พร้อมทั้งได้ชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมกันทอผ้า และสร้างกลุ่มทอผ้า ไทลื้อแม่สาบขึ้นเป็นครั้งแรก และมุ่งมั่น ที่จะรักษาการทอผ้า ไทลื้อแม่สาบไว้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
จวบจนปัจจุบันแม่อุ้ยเมือง พิมสารี ก็ยังคงสืบทอดศิลปะการทอผ้า ไทลื้อบ้านแม่สาบไว้ และยังคงทอผ้าลวดลายต่างๆอย่างต่อเนื่องเสมอมา หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เชิญแม่อุ้ยเมือง ไปออกงานหลายต่อหลายครั้ง แม่อุ้ยเมืองท่านบอกว่า ยินดีอย่างมากหากมีผู้สนใจ ที่จะขอเข้ามาเรียนรู้ ศิลปะการทอผ้า ไทลื้อแม่สาบ ท่านยินดีที่จะให้ความรู้เพื่อไม่ให้องค์ความรู้ที่ส่งต่อกันมานั้นสูญหายไป ซึ่งเรื่องนี้แม่อุ้ยเมืองเป็นกังวลเป็นอย่างมาก
ลวดลายผ้าทอ บ่งบอกวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธา
ลวดลายต่างๆบนผ้าทอไทลื้อ แม่สาบ นั้นถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ลวดลายต่างๆที่อยู่บนลายผ้า สะท้อนแสดงออกให้เห็นถึง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ ความศรัทธา ของชุมชนไทลื้อ แม่สาบได้เป็นอย่างดี ลวดลายต่างๆล้วนอิงลวดลายมาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านอยู่ เช่น ลายม้า ลายช้าง ลายสิงห์ ลายนก ลายขอ ลายดอกแก้ว ลายดอกจันทน์ เป็นต้น ลวดลายต่างๆเหล่านี้ คงความเรียบง่ายและสวยงามตามแบบฉบับของชุมชน
ลายช้าง | ลายม้า |
---|---|
ลายดอกเหล่มผิด | ผ้าทอแบบต่างๆ |
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
สารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่น (ภาคเหนือ) , ประวัติความเป็นมาของผ้าทอไทลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง
Papas khruaiem, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม